องค์พ่อจตุคามรามเทพ รุ่นสมบัติจักรพรรดิ ปี2549 เนื้อทองแดง
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช
มีตำนานเล่าว่า จตุคามรามเทพ คือเทวดารักษาเมือง หรือเทพประจำหลักเมืองนครศรีธรรมราช เดิมคือ พระเจ้าจันทรภาณุ ผู้สร้างเมืองศรีธรรมโศก (นครศรีธรรมราช) อันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย
อีกตำนานหนึ่ง เชื่อกันว่า ‘จตุคามรามเทพ’ ทรงเป็นพระโอรสของนาง พญาจันทราหรือนางพญาพื้นเมืองทะเลใต้ ทรงเป็นราชินีของพระเจ้าราตะ หรือ พระสุริยะเทพ ผู้ทรงรวบรวมดินแดนคาบสมุทรทองคำเป็นจักรวรรดิเดียวกันในพุทธศตวรรษที่ ๗ และทรงเป็นพระราชมารดาของเจ้าชายรามเทพ พระนางจันทราทรงบรรลุธรรม ทรงอิทธิฤทธิ์ขนาดบังคับคลื่นลมร้ายให้สงบลงได้ ดังนั้น ชาวทะเลจึงกราบไหว้ท่านก่อนออกสู่กลางทะเล เรียกกันอีกชื่อว่า ‘แม่ย่านาง’ ของชาวศรีวิชัย หรือ เจ้าแม่อยู่หัว
เจ้าชายรามเทพทรงศึกษาวิชาจตุคามศาสตร์จากพระมารดาจนเชี่ยวชาญ ทรงศึกษาพุทธธรรมในลัทธิมหายาน ทรงมีความเชื่อเรื่องการบำเพ็ญบารมี เป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อการตรัสรู้ธรรมในภายภาคหน้า ทรงตั้งปณิธานแน่วแน่ในการประกาศพระศาสนาให้มั่นคงทั่วแว่นแคว้น ทรงได้รับการถวายพระนามว่า องค์ราชันจตุคามรามเทพ ต่อมาทรงเจริญอิทธิฤทธิ์สูงส่ง ทรงศักดานุภาพยิ่งใหญ่ แม้กล่าววาจาสาปแช่งผู้ใด ผู้นั้นย่อมมีอันเป็นไป จนได้ถวายพระนามอีกสองพระนาม คือ จันทรภานุ และ พญาพังพกาฬ
ตำนานเรื่อง พญาพังพกาฬ หรือ พังพะกาฬ ที่เล่าขานกันในเมืองนครศรีธรรมราช ก็ไม่ตรงกัน บ้างว่าเป็นลูกชาวนา ต่อมากลายเป็นนักรบผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ บ้างก็ว่าเป็นพระชาติก่อนขององค์จตุคามรามเทพ
พญาโหราบรมครูของช่างชาวชวากะ จำลองรูปมหาบุรุษเป็นอนุสรณ์ตามอุดมคติศิลปะแบบศรีวิชัย เรียกว่า ร่างแปลงธรรม รูปสมมติแห่งเทวราช ที่มีตัวตนอยู่จริงในโลกมนุษย์ ทรงเครื่องราชขัตติยาภรณ์ ๔ กร ๔ เศียร พร้อมด้วยเทพศาสตราวุธ เพื่อปกป้องอาณาจักรและพุทธจักร เพื่อเป็นคติธรรม ประดิษฐานในทุกหนแห่งในอาณาจักรทะเลใต้
อาจารย์บัณฑิต สุทธมุสิก ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อีกท่านหนึ่ง บันทึกไว้ว่า
เรื่องนี้ยากจะพิสูจน์ แต่ในคติการสถาปนาพระเทวราช อันเป็นศิลปกรรมสมมติในภายหลังตามประเพณีศรีวิชัย ‘จตุคามรามเทพ’ จึงหมายถึง ดวงพระวิญญาณแห่งอดีตบูรพกษัตริยาธิราชเจ้า ผู้มาสถิตเป็นผู้คุ้มครองดูแลบ้านเมืองทั้งสี่ทิศ ทรงฤทธิ์อำนาจอย่างเต็มเปี่ยม ยังเพียบพร้อมด้วยบารมีธรรม ๑๐ ประการ1 ของพระโพธิสัตว์ ผู้มีความเมตตาต่อมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ตรงตามหลักพระพุทธศาสนามหายานที่แพร่หลายในยุคศรีวิชัยไศเลนทรวงศ์ ดังเช่น พระสยามเทวาธิราช ที่สถาปนาขึ้นภายหลังในยุครัตนโกสินทร์ที่สมมติเอาดวงพระวิญญาณของพระมหากษัตริย์รวมเป็นหนึ่งเดียวกับเทวดา เพื่อปกป้องรักษาบ้านเมือง
แต่การที่จะบอกว่าเป็นกษัตริย์พระองค์ใดแน่นั้น ตอบยาก บางท่านบอกคือ พระเจ้าจันทรภาณุ แต่พระเจ้าจันทรภาณุก็อยู่เพียง พ.ศ. ๑๘๐๐ เป็นยุคปลายของตามพรลิงค์ ถ้าเราเชื่อกันว่า ‘จตุคามรามเทพ’ คือ อดีตกษัตริย์ศรีวิชัย ดังนั้น จึงน่าจะเก่าแก่กว่าพระเจ้าจันทรภาณุ ดังเช่นพระเจ้าวิษณุราช ที่ปรากฎตามศิลาจารึกกรุงศรีวิชัย อยู่ในราว พ.ศ. ๑๓๑๘ ผู้สร้างมหาเจดีย์บรมพุทโธ ห่างกันถึง ๕๐๐ ปี แต่ถ้ามองในเรื่องการกลับชาติมาเกิดตามหลักของมหายาน ตัวอย่างเช่น ดาไลลามะของทิเบต ที่กลับชาติมาเกิดและถือกันว่าเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระอวโลกิเตศวร ในยุคศรีวิชัย ที่พุทธศาสนามหายานยิ่งใหญ่ ก็มีคติว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และยังเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีตัวตนจริงบนโลกมนุษย์
ประเด็นน่าสนใจ คือ ในแผ่นพับวัตถุมงคลรุ่นบูรณะหลักเมืองนครศรีธรรมราช ปี ๒๕๔๗ หรือ บูรณะหลักเมืองนครศรีธรรมราช ๒๕๔๗ ที่ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชเป็นที่ปรึกษาการจัดสร้าง ได้มีเล่าเรื่องที่มาขององค์ ‘จตุคามรามเทพ’ แปลกไปกว่าตำนานอื่น ดังนี้
ย้อนหลังในราวปี พ.ศ. ๑๐๔๐ ในสมัยนั้นกษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรสุวรรณภูมิ คือ พระเจ้าจันทรภาณุ มีพระบารมีบุญญาธิการมาก ได้แผ่ขยายอำนาจอาณาเขตออกไปถึงประเทศอินเดีย ยึดประเทศอินเดียใต้ และอยู่ปกครองจนเป็นพระมหาราชของอินเดีย ไม่กลับมายังสุวรรณภูมิเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี พระโอรสสองพี่น้องของพระเจ้าจันทรภาณุ คือ ขุนอินทรไศเรนทร์ และขุนอินทรเขาเขียน เห็นบ้านเมืองทรุดโทรมลง ขาดกษัตริย์ปกครอง ครั้นจะตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์แทนพระบิดาก็ไม่ได้ จึงร่วมกันย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองช้างค่อมศิริธัมมาราช แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า ศรีวิชัยสุวรรณภูมิ
ต่อมามีคำอธิบายเพิ่มว่า ในฐานะที่ท่านทั้งสองเป็นปฐมกษัตริย์ จึงได้ขยายเมืองและซ่อมแซมบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ที่เริ่มชำรุดทรุดโทรมลงเป็นครั้งแรก ด้วยคุณงามความดีของพี่น้องสองกษัตริย์ หลังจากสิ้นพระชนม์ลง ประชาชนทั้งหลายจึงได้ยกย่องเทิดทูนให้เป็นพระเสื้อเมืองและพระทรงเมือง มีฐานะเป็นเทวดาประจำเมือง และขนานนามของท่านทั้งสองว่า ‘ท้าวจตุคามราม’ และ ‘ท้าวรามเทพ’ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดังหลักฐานที่ปรากฏ คือรูปขนาดใหญ่ของท่านทั้งสองที่ประทับนั่งอยู่ข้างบันใดทางขึ้นพระบรมธาตุเจดีย์ในวิหารพระทรงม้า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งมีปรากฎมานานหลายร้อยปีแล้ว
อีกตำนานหนึ่ง ที่ปรากฏในตำราพระพุทธสิหิงค์ (สิหลพุทธรูปนิทาน) และตำนาน ชินกาลมาลีปกรณ์ มีความว่า
ครั้งหนึ่งพระร่วงสุโขทัยได้ยินกิตติศัพท์พระพุทธรูปในลังกาว่าศักดิ์สิทธิ์นัก จึงส่งทูตไปเจรจาพระเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ว่าทำอย่างไรถึงจะได้มา พระยานครฯ ตอบว่า “ไปเอามาบ่มิได้ เพราะลังกามีเทพารักษ์สี่องค์ (จตุเทวรักขา) คือ พระราม พระลักษณ์ สุมนเทพ และขัตตคามเทพ”
ไมเคิล ไรท ได้เขียนไว้ในบทความของเขาใน ‘มติชนสุดสัปดาห์’ ฉบับที่ ๑๓๙๔ ว่า
ปัจจุบันนี้พระรามยังสถิตอยู่ที่เมืองเทพนคร (Dondra) ครองภาคตะวันตกเฉียงใต้ในนาม อุบลวรรณ พระลักษณ์หายไป มีพิเภก (Vibhisshana) มาขึ้นครองแทนที่วัดกัลยาณีสีมา กรุงโคลัมโบ (ประเทศศรีลังกา) สุมนเทพยังครองสุมนกูฎ (เขาพระพุทธบาทกลางเกาะ) ส่วนขัตตคามเทพ ได้แก่ ขันธกุมาร (บุตรพระอิศวร) ที่สถิตอยู่ที่กฏรคาม (Kataragama) ซึ่งเขียนเป็นภาษาบาลีว่า ขัตตุคาม แล้วคนไม่ถนัดภาษาย่อมดัดแปลงเป็น จตุคาม ตามใจนึกโดยไม่นึกถึงความหมายหรือหลักภาษา
ไมเคล ไรท สรุปว่า จตุคามรามเทพ น่าจะเป็นเทพฮินดู ๒ องค์ ที่ชาวศรีลังกานับถือ เป็นเทพารักษ์พระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อชาวนครฯ รับพระพุทธศาสนาจากลังกาวงศ์เข้ามา เทพทั้งสองก็ตามมาด้วยในฐานะเทพารักษ์พระบรมธาตุนครฯ ต่อมาในสมัยหลังนี้ ความทรงจำทางประวัติศาสตร์เสื่อมและเอกสารโบราณถูกลืมหรือถูกอำพราง บรรดาผู้มีศรัทธาบางคนจึงรู้สึกแปลกแยกหมดที่พึ่ง แล้วขวนขวายสร้างที่พึ่งขึ้นมาใหม่โดยผนวกชื่อ ขัตตุคาม กับ รามเทพ แล้วอุปโลกน์เทพองค์ใหม่ชื่อ จตุคามรามเทพ ขึ้นมาจากความว่างเปล่า โดยไม่มีหลักฐานใดๆ รองรับ…
ในปัจจุบันนี้ชื่อเสียงเกียรติคุณของท้าวจตุคามและท้าวรามเทพได้แผ่ขยายออกไปกว้างขวางทั่วประเทศ ทั้งนี้ด้วยพลานุภาพแห่งอิทธิฤทธิ์ บุญญฤทธิ์ของทั้งสองพระองค์ ได้ส่งผลให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาบูชาสักการะ ประสบกับความสัมฤทธิผลในสิ่งที่พึงปรารถนาตามจิตอธิษฐานกันอย่างถ้วนหน้า จึงควรที่ทั้งสองพระองค์ได้รับการยกย่องเทิดทูนในสมญานามว่า เทวโพธิสัตว์แห่งอาณาจักรทะเลใต้
พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นผู้หนึ่งที่ยืนยันว่าที่เข้าใจว่าท้าวจตุคามรามเทพเป็นองค์เดียวนั้นไม่ถูกต้อง แท้จริงแล้วมีสองพระองค์และทรงเป็นพี่น้องกัน
จะเห็นได้ว่า แม้แต่ตำนานความเป็นมาของ ‘จตุคามรามเทพ’ ก็ยังมีหลายตำนาน จนไม่รู้ว่าจะเชื่อตำนานไหนดี
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทุกตำนานพูดตรงกัน คือ ‘จตุคามรามเทพ’ นั้น สถานะที่แท้จริงของท่าน คือ เทวดา มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามกฎของไตรลักษณ์ มิได้แตกต่างไปจากมนุษย์
ย่อมมิอาจเปรียบเทียบได้กับพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นพระศาสดาแห่งเทวะและมนุษย์ทั้งหลาย การจะนับถือ ‘จตุคามรามเทพ’ มากกว่า ยิ่งกว่า หรือเหนือกว่าพระพุทธเจ้านั้น เป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง
ศุขพระ Sukpra Thai Amulet Happyamulets
ให้เช่า วัตถุมงคล พระเครื่อง ตะกรุด
พระแท้ รับประกัน ทุกชิ้น จัดส่งรวดเร็ว
FB : @Sukpra99
Tel : 09-234-888-26
Line : Sukpra99
IG : Sukpra99
Twitter : @sukpra99
www.sukpra.com